วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของเพลงสกา

ประวัติความเป็นมาของเพลงสกา
แดนซ์ฮอลล์ เริ่มพัฒนาและแพร่หลายขึ้นในจาไมก้า นับตั้งแต่ปี 1979 
โดยมีแกนนำคือ Yellowman} Super Cat} Barrington Levy. และพัฒนากลายเป็น
 
Raggamuffin ในต้นยุค 90 โดยการร้อง แรป ด้นสด แทรกเข้ามาในเพลงแดนซ์ โดยมีจังหวะที่เร็วกว่า เร็กเก้
โดยใช้ช้เสียงกลองสังเคราะห์ แทนเสียงกลองธรรมดา ซึ่งในยุคแรกๆ มีเนื้อหา และเนื้อร้องที่ หยาบ เถื่อน และดิบ
 จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มหนุ่มสาวชาวจาไมก้า และสืบทอดมาจนปัจจุบัน ได้แพร่หลายไปทั่ว

ดีเจลีด ได้ให้คำนิยามต่อมาว่า
 
"ถ้า เรกเก้ต้นฉบับในปี 1970 เป็นสี แดง เขียว และทอง ละก้อ ก้าวต่อไปของเร็กเก้ ก้อคือ โซ่ทอง"
(คงหมายถึงการรวบรวม และเรียงร้อยและพัฒนาให้เป็นโว่ทองหลากสีสวยงาม ลูกเล่นแพรวพราว...ทำนองนั้นน่ะครับ)

ปลายปี 90 ใน จาไมก้า มีการพัฒนาเนื้อหา คำร้องให้ออกมาทางแนว จิตวิญญาณในลัทธิ Rastafarianism แต่ทว่า
 แนวดนตรีแดนซ์ฮอลล์ ได้ข้ามเขตแดนเข้ามาเจริญเติบโตนอกจาไมก้าเสียแล้ว ดังปี 2001
Shaggy รับ แผ่นเสียงทองคำขาว หกแผ่น จากการทำยอดขายในอัลบั้ม Hotshot ต่อมาในปี 2002 ก้อได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง American Music Award และ Grammy อีกด้วย ทั้งยังได้รับ สองรางวัลใน World Music Award อีกด้วย
 
ขณะที่ จังหวะของแดนซ์ฮอลล์ ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาในปี 2003 กับ Get Busy ของ Sean Paul.

ทำให้ ดนตรีแนวแดนซ์ฮอลล์ ได้เข้ามาแทนที่ดนตรีจาไมก้า (คงหมายถึง เรกเก้)
 
จึงมีความหมายรวมไม่เพียงเฉพาะ ท่วงทำนอง และเนื้อร้องเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงแนวคิด และ
วัฒนธรรมของชาวจาไมก้าที่ได้แทรกเข้ามาหลอมรวมกันในท่วงทำนองนั้นๆ อีกด้วย

ดังนั้นจุดสูงสุดของดนตรีแนวนี้ กล่าวคือ ช่วงระหว่าง ปี 89 - 94 และ  99 - 2004 ได้ให้กำเนิดศิลปินแนวนี้ต่างๆ มากมาย 
 
อาทิ Buju Banton, Bounti Killa, Spragga Benz, Beenie Man, Capleton, Elephant Man, Shaggy, Sean Paul และ Sizzla
 
เพลงดังๆ อย่าง No No No ของ Dawn Penn และ Murder She Wrote ของ Chaka Demus & Pliers ถือ เป็น 
 
เพลงแดนซ์ฮอลล์ ฮิตๆ รุ่นแรก ในอเมริกา ในช่วงต้น 90
 

พอจะกล่าวได้ว่า แดนซ์ฮอลล์ ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยผลจากปัจจัย ทางการเมืองและเศรษฐกิจในจาไมก้า 
 
โดยการพัฒนาขึ้นมาจากเรกเก้ (ที่ได้รับอิทธิพลจาก ศาสนา ความเชื่อ และแรงขับเคลื่อนทางสภาวะสังคม
 
ในช่วงต่างๆ) ถือเป็น ภาควิทยาศาสตร์ของเรกเก้ อีกด้วย

ทว่า ดนตรีแนวนี้กลับโดนดูถูกและโขกสับเละเทะ จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะ Ian Boyne
นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในจาไมก้า และถูกบถากถาง จากกลุ่มรักร่วมเพศในจาไมก้า
 ถึงประเด็นของเนื้อหาที่ดูถูก เหยีดหยาม ชาวรักร่วมเพศอีกด้วย

แม้ว่า ดนตรีแนวนี้ จะไม่สามารถเข้าถึง และเข้าใจได้ง่าย เนื่องด้วย ผู้คนทั้งหลายต่างๆตัดสินจาก พื้นฐานวัฒนธรรม
 
และความรู้สึกของตนเอง ดังคำว่า Bun ที่หมายถึง burn  ก้อไม่ได้รับการยกย่องว่า มีสุนทรีย์ทางภาษา แต่อย่างไรก้อดี
 
วลีที่ว่า Bun Sodomites ก้อไม่ได้หมายถึง Burn Sodomites แต่กลับเป็นคำเสียดสีที่แสดงว่า
 
คุณเป็นประเภท หัวดื้อ ไม่ยอมรับ ค้านหัวชนฝา ต่างหาก

ดนตรีสกา เรกเก้

      รสนิยมการฟังเพลงของชาวจามไมกันนั้น  ได้รับอิทธิพลจากสถานีวิทยุอเมริกันที่ลอยข้ามทะเลมา
ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่จากสถานีวิทยุฟลอริดา  หรือหลุยส์เซียนา หรือสถานีนิวออร์ลีนส์
และสำหรับชาวจาไมกันนั้น ขอเพียงแค่เป็นเพลงร็อคแอนโรล์ที่มีกลิ่นอายของริธึมแอนบลูส์ฺก็เป็นอันใช้ได้
      
เพลงประเถทนี้ภายหลังเรียกว่าจังหวะโซล  ซึ่งมีรากฐานมาจากดนตรีของชาวอัฟริกันผิวดำในอเมริกา  ต่อมาไม่นาน ดนตรีของชาวจาไมกันก็คลี่คลายออกไป  พวกเขาแต่งเพลงโดยการผสมผสานแนวเพลง ร็อคแอนโรล์ เข้ากับเพลงพื้นเมืองที่เรียกว่า "Mento" (เมนโต) ของอัฟริกันจาไมกัน  หรืออาจผสมคาลิบโซที่นิยมกันในอเมริกาใต้  ผลของการผสมผสานเช่นนี้ชาวจากไมกันเรียกว่า  "สกา"  แต่จังหวะค่อนข้างเร็ว  สกาจึงเหมาะเป็นเพลงเต้นรำของคนผิวดำ
    
ช่วงปลายทศวรรษ 1960  จังหวะของเพลงสกาเริ่มมีการประยุกต์เล่นให้ช้าลงกว่าเดิม และได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "Rocksteady" (ร็อคสเตดี้) และหลังการมาถึงของร็อคสเตดี้  ก็คือการกำเนิดขึ้นของ "Reggae" (เรกเก้) เพลงร็อคในสไตล์จาไมกัน  ที่หลายคนมองว่าเป็นการนำร็อคแอนโรลด์มาปรับให้มีลูกเล่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ด้วยการผสมผสานเข้ากับทำนองของท้องถิ่นจาไมกัน  คล้าย ๆ สกา และร็อคสเตดี้  แต่ เรกเก้  มีจังหวะในการเล่นที่เนิบช้ากว่า
     
บทเพลงเรกเก้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในสถานเต้นรำ กระทั่งปี ค.ศ. 1968 บทเพลง Do The Reggae บทเพลงเรกเก้เพลงเเรก  ก็ถือกำเนิดขึ้นในท้องตลาด  เป็นผลงานของ Toots Hibbert แห่งวง The Maytals  
     
 กีตาร์ เบส กลอง  คือเครื่องดนตรีที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของดนตรีเรกเก้  โดยเฉพาะกลองสไตล์อัฟริกันอันเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของจาไมกา
     
ความพิเศษอย่างหนึ่งของเรกเก้คือ  "จังหวะเคาะ"  ที่ชวนให้รู้สึกราวกับต้องมนต์  นั่นคือจังหวะ 1 และ 3 ซึ่งเรียกกันว่า  จังหวะสะกิตจิต ต่างกับร็อคที่เคาะจังหวะ 2 และ  4 แต่การเคาะที่ 1 และ 3 ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมาจากาการตีกลองแบบอัฟริกัน  ซึ่งในจาไมการเรียกดนตรีที่เลียนเเบบสไตล์พืนเมืองว่า  Root Music  
      
ดนตรีเรกเก้พัฒนามาอย่างไม่หยุดยั้งตามรสนิยมของนักเต้นรำ  ความพึงพอใจในเสียงเบสและลีลาของ เรกเก้ ส่งผลให้เพลง เรกเก้ ต่างจากเพลงสไตล์อื่น ๆ  การมิกซ์เสียงเบสใส่ลงในร่องเสียง  กลายเป็นที่มาของการผลิดแผ่น ซิงเกิ้ล  ที่เรียกว่า Dub Side  หรือดนตรี Dub อันเกิดจากดนตรีRocksteady และ Reggae เพราะมีการคิดค้น การซ้อนเสียงเบสเข้าไปสองครั้ง (Double)  ทำให้เ้กิดเสียงที่แน่นขึ้น  แล้วจากนั้นก็ลองซ้อนแบบเหลื่อม ๆ ทำให้เกิดเสียง Delay จนวันที่เทคโนโลยีก้าวหน้ากก็เกิดอุปกรณ์แปลงเสียง (Effect) เพื่อให้เกิดเสียง Delay และ Space Echo ซึ่งเป็นที่มาของดนรี Dub ที่นิยมใช้ Delay และ Echo มาก ๆ  พร้อมกับใส่เนื้อเพลงพูด ที่ด้นสด หรือImprovise 
     
ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสเน่ห์ที่ไม่เคยเสื่อมความนิยมไปจากประชาชนชาวโลกของดนตรีแนวนี้  ส่วนการด้นสดกับ Dub Side นั้นจริง ๆ แล้วคือการเเร๊พนั่นเอง  แต่เป็นการแร๊พในแนวทางของชาวจาไมกัน ที่เรียกกันว่า "Raggamuffin" (เรกก้ามัฟฟิน)  และเป็นที่มาของดนตรี "Dance Hall " ในช่วงปี ค.ศ. 1970 พร้อม ๆ กับกำเนิดการ Rap ในดนตรีฮิพฮอพแถบ Bronx ใน New York 
      
สำหรับเรา คิดว่า เพลง สกา ในจาไมกายุคแรก ๆ น่าฟังที่สุด  เพราะยังไม่มีเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ของกีตาร์หรือออร์แกนเข้ามา  มีแค่ กลอง Double Bass เครื่องเป่า และกีตาร์โปร่ง  แถมเมโลดี้ที่อิงไปทางของ Jazz ด้วย  ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร  ลองฟังเพลงของ Skataletes ดูคับ  ในความคิดของเรา The Skatalites เป็นวงสกาที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะทุกคนทุกตำแหน่งมีแนวทางที่โดดเด่นไม่แ้พ้กัน The Skatalites  นับเป็นวง Ska ต้นแบบของ Ska ทั่วโลก





     
น้ากอล์ฟ T-Bone เคยเล่าให้ฟังว่า เคยมีโอกาสดู The Skatalites เล่นสด ๆ สมัยเรียนอยู่อเมริกา  และวงนี้คือวง Ska ที่ น้ากอล์ฟ แกอยากแจมด้วยมากที่สุด
     
เนื้อหาเพลง Ska ในยุคแรก ๆ  ยังไม่ค่อยพูดถึงลัทธิ Rastafarian มากนัก  แต่ก็มีเรื่องการเมือง,สิทธิมนุษย์ชน  , ธรรมชาติ , ความรัก เป็นเนื้อหาหลัก  แต่หลังจากลัทธิ Rastafarianเริ่มเฟื่องฟู กลุ่มคนดำในสลัม จาไมกา  เริ่มปวารณาตัวเข้านับถือ ลัทธินี้มากขึ้น Ska จึงเริ่มพัฒนาเนื้อหาและแนวดนตรีมาเป็น Rocksteady 
   
จริงอยู่ที่ดนตรีของ Ska ลดความกระแทกกระทั้นลงกลายเป็น Rocksteady ทว่าเนื้อหาของเพลงกลับร้อนแรงขึ้นตามอุณหภูมิของการเมือง  ซึ่งก็มีผลจากเหตุการณ์การใช้กำลังปราบปรามจลาจลระหว่างผิวในปี ค.ศ. 1965 โดยเหตุผลครั้งนั้นได้ปลุกจิตสำนึกของคนดำรุ่นใหม่ ให้ตื่นขึ้นจากความฝันแห่งโลกยุคเก่า  ด้วยเหตุนี้ Rocksteady จึงถือกำเนิดขึ้น  มีบทเพลงใหม่ ๆ ทยอยออกมาเร้าคนหนุ่มสาว ให้กล้าแสดงความรู้สึกต่อต้านสังคมอย่างไม่ขาดสาย 




...การกำเนิดขึ้นของเร็กเก้-สกา ...

..เสน่ห์ของดนตรีแนวนี้(สำหรับเรานะ)คือฟังสบายๆ Cill..Cill.. ความไม่เร่งรีบของจังหวะ..เพราะชีวิตเราทุกวันนี้ก้อเร่งรีบซะเหลือเกิน..เราชอบแนวนี้มานานแล้ว(เพราเราชอบทะเล...เกี่ยวกันหรือปล่าวไม่รู้แต่เราว่ามันเข้ากันดี)แต่ด้วยความที่หาฟังได้เฉพาะกลุ่มก้อเลยห่างไป...แต่สังเกตว่าช่วงนี้ดนตรีแนวนี้กำลังกลับมาเพราะมีคนคอยสนับสนุน..(หรือปล่าว?!?)เห็นงานเทศกาลดนตรีเร็กเก้ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3, งานดนตรีสกาที่มีป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม แห่งคลื่นแฟต เรดิโอ เป็นผู้ผลักดัน, ..วันนี้เลยนั่งหาข้อมูลเพิ่มเติม...เลยเอามาฝากเพือนๆที่สนใจ

เร็กเก้-สกา ท่วงทำนองแห่งภราดรภาพอันเป็นนิรันดร 

การกำเนิดขึ้นของเร็กเก้-สกา 

ในหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีพื้นเมืองจาเมกาอย่าง “เร็กเก้” ไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าบ็อบ มาเลย์ คือตำนานผู้ปลุกให้ชาวอเมริกันและคนทั้งโลกหันมาฟังพวกเขา แต่ก่อนการมาถึงของบ็อบ ก่อนการกำเนิดของเร็กเก้ รากที่แท้จริงนั้นยึดโยงอยู่กับจังหวะดนตรีที่ดิบกว่า สดกว่า เร้าอารมณ์ได้อย่างรุนแรง ทรงพลังและ...ซื่อตรงยิ่งกว่า จังหวะดนตรีดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า “ สกา ” (SKA) 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 หากถามว่าชาวสลัมทั้งในย่านเทรนช์ทาวน์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของบ็อบ และแหล่งสลัมอื่นๆ ในประเทศยากจนอย่างจาเมกาเมื่อราวทศวรรษ 1960 รับฟังเพลงจากสถานีตามคลื่นวิทยุต่างๆ ด้วยวิธีไหน คำตอบที่มีการบันทึกไว้ทำให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของพวกเขาที่เพียงแค่ต้องการเสียงดนตรีเพื่อความสนุกสนาน ความสุนทรีและความรื่นรมย์ของชีวิต พวกเขาใช้เพียงรถแวนหรือรถบรรทุกบรรจุแผ่นเสียงจำนวนมากทั้งจากฝั่งอเมริกาและจาเมกา พร้อมด้วยสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเครื่องเสียงสเตอริโอทันสมัย เพียงเท่านี้ “รถดนตรี” ก็ตระเวนจัดงานเต้นรำในสถานที่ต่างๆ ตามสลัมเหล่านั้นได้อย่างไม่ยากเย็น 

กล่าวได้ว่า “สกา” เกิดขึ้นจากการหลอมรวมแนวดนตรีอันหลากหลาย ตามที่รถดนตรีเคลื่อนที่คันนี้ส่งเสียงไปถึง คลื่นความถี่จากสถานีวิทยุฟลอริดา หลุยส์เซียนา นิวออร์ลีนส์ และคลื่นจากสถานีวิทยุอื่นๆ ในอเมริกาได้รับความนิยมอย่างสูง ชาวจาเมกาหลงใหลในเพลงโซล ท่วงทำนองเฉพาะตัวของชาวแอฟริกันผิวดำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือดนตรีร็อกแอนด์โรลที่ผสานเข้ากับริธึมแอนด์บลูส์นั่นเอง หลังจากนั้น ชาวจาเมกาก็คิดค้นจังหวะของตนเองขึ้นมา โดยนำร็อกแอนด์โรลผสานเข้ากับดนตรีพื้นเมือง “เมนโต” ของชาวแอฟริกันในจาเมกา หรือในหลายครั้งก็อาจผสานเข้ากับ “คาลิบโซ” ของชาวอเมริกาใต้ การผสมผสานและหลอมรวมที่พวกเขาคิดค้นขึ้นนี้ ก่อให้เกิดเป็นจังหวะดนตรีที่แปลก พิเศษ มีเสน่ห์ในตัวเอง จังหวะที่รวดเร็วคึกคักของมันแพร่หลายได้รับความนิยม กลายเป็นเพลงเต้นรำของชาวจาเมกาทั้งประเทศไปในที่สุด พวกเขาพร้อมใจเรียกดนตรีแนวนี้ว่า “สกา” 

กระทั่งปลายทศวรรษ 1960 จังหวะที่รวดเร็วของดนตรีสกา ถูกดึงให้เนิบช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย และได้ชื่อใหม่ว่า “ร็อก สเตดี” (Rock Steady) และหลังการมาถึงของร็อก สเตดี ก็คือการกำเนิดขึ้นของ “เร็กเก้” เพลงร็อกในสไตล์จาเมกัน ที่ใครหลายคนมองว่าเป็นการนำร็อกแอนด์โรลมาปรับให้มีลูกเล่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการผสานเข้ากับท่วงทำนองพื้นเมืองของจาเมกา คล้ายสกาและร็อก สเตดี แต่เร็กเก้มีจังหวะที่เนิบช้ากว่าแนวดนตรีทั้งสองประเภทนั้น

กีตาร์ เบส และกลอง คือเครื่องดนตรีที่เป็นหัวใจสำคัญของเร็กเก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลองไสตล์แอฟริกันที่เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของจาเมกา ความพิเศษประการหนึ่งของดนตรีเร็กเก้คือ “จังหวะเคาะ” ที่ชวนให้รู้สึกราวกับต้องมนต์ นั่นคือจังหวะ 1 และ 3 ต่างไปจากร็อกแอนด์โรล ที่มีจังหวะเคาะเป็น 2 และ 4 บ็อบเคยทำเพลงในแบบสกาและเป็นที่นิยมอาทิ I’m Still Waiting และ I Need You 

อย่างไรก็ตาม จังหวะเคาะอันแปลกประหลาดแต่ชวนหลงใหลนี้ ชาวจาเมกาได้รับอิทธิพลมาจากการตีกลองแบบแอฟริกัน ในช่วงแรกที่เพลงเร็กเก้ก่อกำเนิด การยึดมั่นในขนบของดนตรีพื้นเมืองมักจะได้รับการยอมรับมากกว่าวงดนตรีที่พยายามขยายฐานผู้ฟังด้วยการเล่นในจังหวะที่ถูกจริตกับชาวต่างชาติ บ็อบ มาเลย์ เองก็เคยถูกมองในแง่ลบ ได้รับคำวิจารณ์ในทำนองว่าละทิ้งความเป็นพื้นเมืองในเพลงของตน ทว่า ความหมายอันลึกซึ้งของบทเพลงที่พวกเขามุ่งนำเสนอก็ได้รับการยอมรับจากชาวจาเมกาในที่สุด 

ความรักในเพื่อนมนุษย์ ไม่ก่นด่าว่ากล่าวใครเพียงเพราะว่าเขาเป็นคนส่วนน้อยของสังคม สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏในบทเพลงของบ็อบ กลายเป็นสารัตถะสำคัญที่นำพาพวกเขาก้าวข้ามไปสู่ฝั่งอเมริกา กุมหัวใจคนผิวสีทั้งโลก มิใช่เพียงขาวจาเมกาเท่านั้น





*เรื่องของชายผู้เป็นตำนาน... ขับขานบทเพลงแห่งภราดรภาพ 

บ็อบ มาเลย์ กล่าวประโยคอมตะที่ว่านั้น ต่อผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง หลังได้รับมอบเหรียญสันติภาพแห่งประเทศโลกที่สามจากผู้แทนองค์การสหประชาชาติ 

แต่แม้ไม่ได้รับมอบเหรียญเกียรติยศใดๆ บ็อบก็จะยังคงจากโลกนี้ไปในฐานะ “พระคริสต์” หรือ “ผู้ปลดปล่อย” ของชาวจาเมกัน ชาวแอฟริกัน และชาวผิวสีอีกหลายล้านชีวิตทั่วโลก 

หากถามว่าสิ่งใดคือ “อาวุธ” หรือ “เครื่องมือ” ที่เขาใช้ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ให้พ้นจากการกดขี่ของคนขาว คำตอบมิเพียงปรากฏอยู่ในถ้อยคำที่ตอกย้ำว่า ดนตรียืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับปากกระบอกปืนที่มนุษย์ใช้ปลิดชีพมนุษย์ หากแต่เป็นท่วงทำนองของบทเพลงที่บ็อบและผองเพื่อนวง เดอะ เวลเลอร์ส ร่วมบรรเลงขับกล่อมโลกนี้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาต่างหากที่เปรียบเสมือนอาวุธอันทรงพลานุภาพยิ่งกว่าขีปนาวุธใดๆ 

แม้เป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว ที่บ็อบจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 36 ปี กระนั้นหลายสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเขายังคงมีลมหายใจโลดแล่น ดำรงอยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าจังหวะทำนองอันเปี่ยมเสน่ห์ของเพลงเร็กเก้ ผมทรงฟั่นเชือกหรือ Dread Lock ที่ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์เพื่อสดุดีองค์จักรพรรดิไฮเลเซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปียผู้ได้รับการยกย่องเป็นอัครศาสดาแห่งลัทธิรัสตาฟาเรียน ลัทธิที่ทรงอิทธิพลต่อบ็อบและคนผิวสีหลายล้านคนในจาเมกา 

หากยังสื่อให้เห็นถึงความอหังการและเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูงของบ็อบ ที่ปวารณาตนเป็นราชสีห์แห่งจูดาห์ เจ้าป่าผู้อยู่เหนือชีวิตทั้งมวล เฉกเดียวกับที่องค์จักรพรรดิและอัครศาสดาแห่งรัสตาฟาเรียนได้รับเกียรตินั้น 

แต่ใครเล่าจะเอ่ยปากคัดค้านว่าบ็อบไม่คู่ควร ในเมื่อทุกครั้งที่เขาขับกล่อมเพื่อนมนุษย์ด้วยบทเพลงอันเปี่ยมมนต์ขลัง เขาดูไม่ต่างจากสิงหราชที่กำลังสะบัดแผงคอ ก่อนจะแผดเสียงคำรามกึกก้องและน่าเกรงขาม 

ชาวรัสตาที่แท้จึงมิได้ไว้ผมทรงฟั่นเชือกเพียงเพื่อความโก้เก๋ หากเพื่อแสดงถึงความกล้าหาญแห่งจิตใจ และพร้อมจะถ่อมตนต่อผืนดินไม่ต่างจากราชสีห์ที่รู้วาระอันเหมาะสม ไม่ทำลายเหยื่อเพียงเพื่อสนองกิเลสของตน 

ปัจจุบันในท่ามกลางยุคบริโภคนิยม ยังมีชาวรัสตาจำนวนไม่น้อยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ปฏิเสธการทำงานเพื่อรับเงินค่าจ้าง เชื่อมั่นในสิทธิและความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ หากขณะเดียวกันก็ยืนหยัดรักษาสิทธิของการไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ยอมให้การเมืองจูงจมูก หลายคนยังทำสมาธิผ่านการดูดกัญชา ด้วยเชื่อว่ามันเป็นพิธีกรรมสำคัญที่นำพวกเขาเข้าสู่การดิ่งลึกทางจิตวิญญาณ 
...มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับบ็อบ มาเลย์ อีกมากมายเกินจะนับ แต่สำคัญเหนืออื่นใดคือลมหายใจแห่งดนตรีเร็กเก้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้การปฏิวัติเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเมื่อราวปลายทศวรรษ 1960 จะกลายเป็นอดีตและดำรงอยู่ในฐานะ “บทบันทึกแห่งประวัติศาสตร์” แต่บทเพลงของบ็อบที่ร่วมยืนหยัดเรียกร้องสันติภาพและภราดรภาพในครานั้น ยังคงโลดแล่นขับกล่อมผู้คนทั่วโลกตราบจนวันนี้ 

เพลง “No Womam No Cry” ที่บ็อบส่งน้ำเสียงของอดีตเด็กสลัมแห่งย่านเทรนช์ทาวน์ซึมซาบเข้าสู่หัวใจคนฟัง คล้ายจะเป็นเพลงชาติของสาวกเร็กเก้หลายล้านชีวิต ไม่ต่างจาก Redemtion Song, Get Up Stand Up และแทบทุกบทเพลงของบ็อบกับผองเพื่อน เดอะ เวลเลอร์ส ที่กาลเวลาไม่อาจลดทอน หรือทำลายมนต์เสน่ห์ใดๆ ให้ด้อยลง 
บ็อบ มาเลย์ แผ้วถางเส้นทางของเร็กเก้ ให้ส่องประกายเจิดจรัสไปกว้างไกล ขณะที่ต้นกำเนิดของจังวะดนตรีคนผิวสีแห่งจาไมกาอย่างสกา คล้ายจะแผ่วเบาไป ทุกคนหันไปให้ความสนใจกับร็อก เสตดีที่มีจังหวะช้ากว่า แต่ไม่ว่าอย่างไร สกาก็ยังคงเป็นฐานรากดนตรีที่ชาวจาเมกาไม่มีวันลืม เพราะหากไม่มีสกา ก็ไม่มีร็อก สเตดี และเร็กเก้ กำเนิดขึ้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และทั่วทั้งโลก ร่วมกันลุกขึ้นปฏิวัติ เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขาที่ถูกคนขาวกดขี่ไว้ ร็อก สเตดี กลายเป็นเครื่องปลุกปลอบใจอันสำคัญยิ่ง บทเพลงหลายต่อหลายเพลงถูกแต่งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวออกมาแสดงพลังบริสุทธิ์ของพวกเขา ต่อต้านการใช้อำนาจอันไร้มนุษยธรรมของคนขาว หากคนผิวสีในอเมริกาและทั่วทั้งโลกได้รับการปลุกปลอบจากเพลงเร็กเก้ของบ็อบ มาเลย์ ระหว่างนั้น ร็อก สเตดี อันมีฐานรากจากดนตรีสกา คือสิ่งที่ช่วยประคับประคองจิตใจของชาวจาเมกา 

ก่อนที่บ็อบจะกลับมากอบกู้จิตวิญญาณของพวกเขา 

.....
*ก้าวสู่เมืองไทย-มนต์เสน่ห์ที่พาหัวใจล่องลอย 

“เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม ฉันเก็บเอาไว้ให้เธอ และจะเป็นเช่นนั้นเสมอ ถนนสายนั้นที่ทอดยาว มีเรื่องราวของความเป็นจริง มีเงาไม้เอาไว้ให้พักพิง ให้เธอเอาไว้ยามอ่อนแรง…” 

“กอดกันหน่อยได้ไหม” 

พลันที่เพลงยอดนิยมของ “ทีโบน” วงเร็กเก้ระดับตำนานถูกขับขานด้วยสไตล์ “สกา” หนุ่มสาวหลายสิบชีวิตที่เบียดเสียดกันอยู่ภายใต้แสงไฟสลัว ก็เปลี่ยนท่าทางที่กำลังยักย้าย โยกตัวเหวี่ยงแขนกระโดดโลดเต้นกันอย่างสนุกคึกคักให้กลับกลายเป็นอิริยาบถสบายๆ หลายคนวาดวงแขนไปโอบกอดคนข้างๆ ปล่อยตัวปล่อยใจให้เคลื่อนไหวไปอย่างช้าๆ หลอมรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับจังหวะเพลง 

หลายคนหันไปจับมือ คล้องแขนกับโต๊ะข้างๆ พากันโยกตัวแล้วหมุนเป็นวงรอบๆ โต๊ะ ดูน่ารักน่าเอ็นดู ราวกับพวกเขาปลดปล่อยความเป็นเด็กที่ซุกซ่อนอยู่ในหัวใจให้ออกมาวิ่งเล่นได้ตามใจชอบ แม้ไม่รู้จักกันไม่เคยพูดคุย แต่ภาษาของดนตรีก็นำพาให้พวกเขาใช้ “ใจ” สัมผัส “ใจ” โดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยถ้อยคำใด 

พวกเขาเคลิบเคลิ้มอย่างเป็นสุข สาวๆ หลายคนหลับตาพริ้ม หนุ่มๆ หัวฟูหลายคน พร้อมใจกันยักไหล่เข้ากับจังหวะ ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไร แต่ภาพรอยยิ้มที่ส่องประกายในแสงสลัว เสียงหัวเราะที่ดังก้องแข่งกับเสียงเพลง คงพอที่จะยืนยันได้ว่า..ความสุข คือสิ่งที่เขาและเธอได้รับจากมนต์เสน่ห์ของสกาที่บรรเลงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน 

ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย ฉึกกะฉักๆๆๆ 

เสียงทรัมเป็ต ไวโอลิน เพอร์คัสชัน กลอง กีตาร์ เบส กลับมาสู่จังหวะคึกคัก เสียงโซโลของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก่อนที่จะหลอมรวมเข้าด้วยกัน พาให้หัวใจสูบฉีดเต้นรัวและแรง ความเนิบช้าชวนเคลิบเคลิ้มถูกสลัดทิ้งไป พวกเขาเเหวี่ยงแขนขา ยักไหล่ โยกเอว กระโดด กระโดด และกระโดด อย่างสนุกสนาน 

เทศกาลดนตรีเร็กเก้ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3, งานดนตรีสกาที่มีป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม แห่งคลื่นแฟต เรดิโอ เป็นผู้ผลักดัน, เสียงตอบรับอันน่าชื่นชมที่วงเท็ดดี้ สกา ที่ได้รับจากผู้ชมงานแฟต เฟสติวัลครั้งล่าสุด เช่นเดียวกับเพลงในแนวสกาของพวกเขาที่ไต่อันดับสูงขึ้นเรื่อยๆ บนหน้าปัดคลื่นโตๆ มันๆ เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ “สกา” ซึ่งกำลังเป็นที่คลั่งไคล้หลงใหลในกลุ่มคนฟังเพลงที่นิยมความสด แปลก ใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

ยังไม่นับการรวมตัวเฉพาะกิจของ ปาล์มมี่ นักร้องสาวสุดเซอร์ กับ ทีโบน วงเร็กเก้ระดับตำนานของไทยที่ร่วมแรงร่วมใจโชว์พลังเสียงและฝีมือคุณภาพด้วยเพลงเก่าที่นำมาเล่าใหม่ในแบบ “สกา” ทำให้ใครต่อใครต่างหลงรักและหลงใหล นอกจากพวกเขา เมืองไทยยังมีศิลปินที่เล่นดนตรี “สกา” มาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 

หาก ไคโจบราเธอส์, จ๊อบ บรรจบ, โกลด์เรด, คือรุ่นเก๋าที่ส่งผ่านหัวใจเร็กเก้-สกา สู่ผู้ฟังชาวไทยกลุ่มเล็กๆ มาอย่างต่อเนื่อง ศรีราชาร็อกเกอร์, สกาแล็กซี่, สกาเบอร์รี่ หรือวงดนตรีมากฝีมืออย่าง เท็ดดี้ สกา แบนด์ และวงดนตรีในแนวนี้อีกไม่น้อยก็อาจเปรียบได้กับคนรุ่นใหม่ที่รับไม้ต่อและช่วยกันส่งมอบความสนุกของสกาให้เปล่งประกายจนได้รับการยอมรับจากผู้ฟังในระดับที่น่าชื่นชม 

หาก สกา-เร็กเก้ ที่คล้ายจะโรยราไป ฟื้นคืนกลับมาอย่างน่าจับตาในวันนี้ พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้หรือไม่ว่า 

ดนตรีแนวนี้คือท่วงทำนองที่ไม่มีวันตาย แม้วันนี้พวกเขามิจำเป็นต้องแบกรับอุดมการณ์ในการปฏิวัติ มิต้องเรียกร้องให้คนผิวสีทั่วโลกลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตนเอง 

แต่กระนั้น จังหวะที่ชวนให้เคลิ้มฝัน จิตใจล่องลอย และสนุกได้อย่างสุดเหวี่ยง ก็คล้ายจะเป็นมนต์ขลังสุดพิเศษที่ชาวจาเมกาทิ้งไว้ให้แก่คนทั้งโลก 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่เพลงเร็กเก้-สกา ในวันนี้ไร้ซึ่งความเจ็บปวดเจืออยู่ คือหลักฐานและร่องรอยอันสำคัญที่บ่งบอกว่า ณ วันนี้ มันคือท่วงทำนองแห่งภราดรภาพอย่างแท้จริง 

ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีน้ำตา มีเพียงเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความสนุก ไม่รู้จักหน้าค่าตา แต่เมื่อเสียงเพลงบรรเลง เราก็พร้อมจะกอดคอ คล้องแขนแล้วพาหัวใจล่องลอยไปด้วยกัน 

“เร็กเก้ กับสกาในความรู้สึกของผม ผมว่าสกามันน่าสนใจตรงที่มีจังหวะเร็วๆ ฉึกกะฉักๆ แต่เร็กเก้มันเป็นอะไรที่เนิบๆ เอื่อยๆ มันมีจังหวะแล้วก็เสน่ห์ที่แตกต่างกัน หากถามถึงเสน่ห์ของเพลงเร็กเก้-สกา ผมว่าสิ่งสำคัญมันอยู่ตรงที่คุณไม่ต้องคิดอะไรเกี่ยวกับมันเลย ไม่ต้องหาความหมาย ไม่ต้องตั้งคำถาม แค่ปล่อยใจให้สบาย แล้วให้ดนตรีมันพาเราไป ง่ายๆ ครับ เหมือนนิยามของผมที่มีต่อเร็กเก้ คือ “สบายๆ ” แค่นั้นเองครับ” 

กอล์ฟ-ทีโบน เผยความรู้สึกแก่ “ผู้จัดการปริทรรศน์” ถึงเสน่ห์และนิยามของดนตรีแนวนี้ในความคิดของเขา 

นอกจากกอล์ฟแล้ว เท็ดดี้ สกา แบนด์ ซึ่งถือเป็นวงดนตรีแนวสกาที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องความสามารถเมื่อขึ้นแสดงไลฟ์ คอนเสิร์ต คืนวันหนึ่ง เขาให้เกียรติพูดคุยกับเราก่อนขึ้นแสดงสดที่ร้านบริคบาร์ ถนนข้าวสาร 

สมาชิกเกือบทั้งหมดของวง คือ ต้น-วิทวัส จันทร์แพทย์รักษ์ (นักร้องนำ) โย-ภาคี นาวี (เบส) เม-เมธี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (กีตาร์) แชมป์-ปิยะวิทย์ ขันธศิริ (ไวโอลิน) รุ้ง-สายรุ้ง สิบหมื่นเปี่ยม (ทรัมเป็ต) เสนอมุมมองของพวกเขาต่อกระแสของ “สกา” ในขณะนี้ได้อย่างน่าสนใจ 

“จริงๆ แล้ว สกามันก็อยู่ของมันเฉยๆ นะ อยู่มานานแล้วด้วย พอสื่อหันมาสนใจมันก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าเป็นกระแสเลยครับ เพราะอะไรที่เป็นกระแส มันก็จะมาเร็วและไปเร็วเหมือนแฟชั่น ที่นิยมกันประเดี๋ยวประด๋าว แต่เราอยากให้สกาอยู่ตลอดไป แต่มองอีกแง่หนึ่งการที่สกาเป็นกระแสขึ้นมามันก็เป็นสิ่งวัดใจเหมือนกันนะ คือวัดใจทั้งเราและคนฟังเพลงเราว่าเมื่อถึงวันหนึ่ง หากกระแสมันจางลง มันโรยราไป มันไม่ฮิตแล้ว คุณจะยังฟังมันอยู่หรือเปล่า เมื่อถึงวันนั้น คนที่ยังฟังสกาก็คือคนที่รักสกาจริงๆ ขณะที่เราเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย คือผมเชื่อเสมอนะว่าอะไรที่มันเป็นของแท้และมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง มันก็จะคงอยู่” 

คนฟังสกาไม่มีใครใจร้อน มีแต่คนใจเย็น รักสนุก มาฟังเพลง มาเต้น ไม่มีใครเคยยกพวกตีกันหรือทะเลาะกันเวลาฟังสกา เพราะเรารักกันเหมือนพี่น้อง...พวกเขายืนยันอย่างหนักแน่น ก่อนจะกลับมาปรากฏตัวบนเวทีของบาร์สกาแห่งนี้อีกครั้งตอนเกือบเที่ยงคืน 

แล้วทุกชีวิตก็พร้อมที่จะกระโดดโลดเต้น และปล่อยหัวใจให้ล่องลอยไปตามท่วงทำนองแห่งความสุข


                     ****************** 
ข้อมูลอ้างอิง 
ศาสดาขบถ : กัญชา อิตถีเพศ และเทศนาด้วยบทเพลง/ สตีเฟน เดวิส :เขียน/ อัคนี มูลเมฆ :แปลและเรียบเรียง/ ชนะ มงคลคำนวณเขตต์ :บรรณาธิการ